“ถ้าสงสัย เอาออกมาก่อน” If in doubt Sit them out

กรณี ประตูฟุตบอล Emiliano Martinez ของ Aston Villa ถูกกระแทกที่ศีรษะโดยเข่าของเพื่อนร่วมทีมจนล้มลง ต้องให้แพทย์ประจำทีมมาตรวจในสนามสักพักก่อนอนุญาตให้ลงเล่นต่อ แต่เล่นได้พักเดียวนักกีฬารู้สึกอาการไม่ดีจึงต้องเปลี่ยนตัวออกในที่สุด

ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จนถึงขนาด FIFA ต้องสอบถามขอคำตอบจากทีมแอสตัน วิลลาว่า ทำไมถึงปล่อยให้นักกีฬาลงสนามไปอีกหลังบาดเจ็บ

การที่เห็นชัดเจนว่าถูกเข่ากระแทกอย่างแรงจนลงไปนอนจับศีรษะกุมด้วยความเจ็บปวด แม้จะตรวจแล้วไม่พบอาการผิดปกติอย่างอื่น

สิ่งที่แพทย์ประจำทีมทุกคนควรทำหรืออยากทำ คือ การให้นักกีฬาออกจากการแข่งขันทันที เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมนอกสนาม

แต่ความเป็นจริงอยู่ในสนาม การเอานักกีฬาออกจากการแข่งขันไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะตัดสินใจได้ง่ายจากแรงกดดันที่อาจต้องเผชิญทั้งจากนักกีฬาเอง กรรมการ โค้ช ผู้จัดการทีม คนดู และอื่นๆอีกมาก (มีตัวอย่างที่แพทย์ประจำทีมถูกไล่ออกเนื่องจากเรื่องแบบนี้มาแล้ว)

แต่ถ้าเพื่อความปลอดภัยต่อนักกีฬาแล้ว ความกล้าหาญที่แพทย์จะต้องทำ ย้ำอีกทีคือ “If in Doubt, Sit them out”

กฎใหม่ของฟุตบอลที่อยู่ในระหว่างการทดลอง ยังไม่ออกมาเป็นกฎตายตัวจนกว่าจะถึงการประชุมบอร์ดฟุตบอลโลกในเดือนสิงหาคมปีหน้า

เรียก Concussion Substitue นั่นคือทีมสามารถให้เปลี่ยนตัวเล่นคนใหม่แทนนักกีฬาที่สงสัยว่าจะมีบาดเจ็บศีรษะออกได้ โดยไม่นับเป็นการเปลี่ยนตัว ซึ่งการแข่งขันที่จะนำกฎนี้มาใช้ในขณะนี้ต้องขออนุญาตจากฟีฟ่าก่อนการแข่งขันเสมอ

การประเมินและการรักษาการบาดเจ็บนักกีฬาในขณะแข่งขันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรใช้ “แพทย์” ที่มีความรู้และประสบการณ์พอสมควรจึงจะทำให้นักกีฬาปลอดภัย

แนวทางการปฏิบัติสำหรับประเมินการบาดเจ็บทางสมองนั้น มีแนวทางที่ต้องศึกษาและปฏิบัติสำหรับ แพทย์ประจำทีมหลายอย่าง ตัวอย่าง SCAT 5 คือ แบบประเมินที่แนะนำให้ใช้ ซึ่งถ้าไม่สนใจจริง อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจได้ง่ายๆครับ

แต่ที่เจ็บปวดในฐานะแพทย์ที่ทำด้านกีฬามาช้านานคือ มีน้อยคนมากที่จะใส่ใจสนใจคำเตือนในเรื่องสุขภาพของนักกีฬา โดยเฉพาะความผิดปกติในระยะยาวๆที่จะเกิดขึ้นหลังจากเลิกเล่นหรือเมื่ออายุมากขึ้น

จนตอนนี้มีความคิดว่าคงต้องให้เป็นเรื่อง “หัวของใคร เข่าของใคร” ถ้าไม่สนใจตัวเองก็ต้อง ปล่อยวางแล้วกระมัง

ขอเตือนนะครับ ตอนนี้มีนักกีฬารักบี้และฟุตบอลต่างประเทศจำนวนมากที่กำลังทำเรื่องฟ้องร้องผู้จัดการแข่งขันต่างๆ เรียกร้องเงินชดเชยจำนวนมาก จากการปฏิบัติที่ผ่านมาโดยไม่มีนโยบายป้องกันที่ชัดเจน (แม้จะมีคำเตือนมากมายออกมาแล้ว)

จนทำให้นักกีฬาหลายคนต้องมีอันตราย เช่น อาการสมองเสื่อม ฯลฯ ในภายหลัง เป็นต้น.

*****

นพ.อี๊ด ลอประยูร แพทย์ประจำทีมชาติไทย โพสต์เรื่องความปลอดภัยในสนามแข่งขันของวงการกีฬาโลกเอาไว้ในเพจ Ead Lorprayoon นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว

อย่างที่ “หมออี๊ด” บอกไว้ อีกหน่อยเราคงจะได้เห็นกฎกติกาการแข่งขันในชนิดกีฬาต่างๆที่จะออกมาใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ก็ไม่ได้เพื่อใคร ก็เพื่อกลุ่มนักกีฬาเองนั่นแหละ

ที่ต้องปลอดภัยกันเอาไว้ก่อน.

 

สนับสนุนโดย >>> @vip123s

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >>> https://thaisoccernews.com/